fbpx
รางน้ำไวนิล

เรื่องควรรู้ ก่อนเริ่มสร้างบ้าน

เรื่องควรรู้ ก่อนเริ่มสร้างบ้าน เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมากที่คุณเจ้าของบ้านต้องทำความเข้าใจ และทำความรู้จักกับเรื่องบางเรื่อง หรือบางเรื่องที่คิดว่าไม่สำคัญ แต่พอเอาเข้าจริงแล้วก็จำเป็นต้องรู้อยู่เหมือนกัน คุณเจ้าของบ้านจึงควรศึกษาหาความรู้ไว้ ตั้งแต่เรื่องทำเลที่ตั้ง กฎหมายเกี่ยวกับบ้าน การถมที่ดิน ทิศทางแดด – ลม แบบบ้านที่จะใช้ในการสร้างบ้าน จำนวนสมาชิกในครอบครัว งบประมาณในการใช้สร้างบ้าน  เอกสารขออนุญาตปลูกสร้างบ้าน การเลือกระหว่างบริษัทสร้างบ้าน ผู้รับเหมาหรือช่าง และที่สำคัญคือต้องรู้ขั้นตอนการสร้างบ้านแบบคร่าว ๆ เรื่องเหล่านี้ต้องทำความเข้าใจไว้ก่อนนะครับ 

 

1. ทำเลที่ตั้งบ้าน

ทำเลที่ตั้งถือเป็นเรื่องที่ควรรู้และศึกษาไว้ให้ละเอียด ประกอบการตัดสินใจ เพราะมีความสำคัญมากต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก คุณต้องคำนึงถึงการเดินทางจากตัวบ้านไปที่ทำงาน ไปโรงเรียนลูก ไปตลาดหรือศูนย์การค้า และปัจจุบันสำคัญมากคือใกล้กับระบบขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้าหรือไม่ ซึ่งถ้าคุณยังจำเป็นต้องใช้ชีวิตภายในตัวเมืองเรื่องทำเลที่ต้องเป็นเรื่องที่ต้องคิดหนักอยู่เหมือนกัน แต่ถ้าใครที่อยากไปใช้ชีวิตแบบชิล ๆ มีอิสระในการทำงาน ทำเลที่ตั้งที่อยู่ตามชานเมืองหรือต่างจังหวัดก็ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์กว่ามากทีเดียว นอกจากนี้เรื่องที่เกี่ยวข้องกับทำเลที่ตั้ง คือ เรื่องของความปลอดภัย การเลือกทำเลที่ตั้งในการสร้างบ้านไม่ควรเลือกบริเวณที่รกร้าง ย่านที่ดูเปลี่ยว และมีความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน ก่อนจะสร้างบ้านจึงควรศึกษา และวางแผนเรื่องทำเลที่ตั้งเป็นเรื่องแรก ๆ เลยครับ

 

2. กฎหมายเกี่ยวกับการสร้างบ้าน

เรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการสร้างบ้านเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นมากที่เจ้าของบ้านต้องรู้ไว้ เพราะหากสร้างบ้านแล้วไม่ถูกต้องตามหลักบัญญัติของกฎหมาย จะทำให้มีปัญหาตามมาทีหลังได้ ตั้งแต่การโดนปรับเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงติดคุกติดตะรางก็เป็นได้ หรือบางครั้งอาจจะต้องทุบบ้านทั้งหลังทิ้งเลยนะครับ วันนี้เรามี 10 ข้อกฎหมายที่ควรรู้ก่อนเริ่มสร้างบ้านมาฝากกันครับ

  1. สร้างบ้านเต็มผืนที่ดินไม่ได้ กฎหมายกำหนดให้ขอบเขตของตัวบ้านมีพื้นที่ได้ไม่เกิน 70% ของที่ดิน
  2. สร้างบ้านชิดรั้ว ผนังบ้านต้องปิดทึบ ควรเว้นระยะห่างตัวบ้านจากรั้วบ้านหรือแนวดิน ไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร 
  3. ผนังบ้านที่มีประตู หน้าต่าง  ต้องมีระยะห่างจากแนวรั้วขั้นต่ำอย่างน้อย 2 เมตร
  4. แต่ละห้องต้องมีช่องระบายอากาศไม่น้อยกว่า 10 %
  5. ห้องนอนต้องมีพื้นที่ใช้งาน อย่างน้อย 8 ตารางเมตร
  6. เพดานห้องน้ำต้องสูงอย่างต่ำ 2 เมตร
  7. บันไดของบ้านต้องกว้างมากกว่า 80 เซนติเมตร
  8. ติดเหล็กดัด ต้องมีช่องเปิดด้วย
  9. ห้ามสร้างบ้านล้ำเข้าไปในถนนสาธารณะเด็ดขาด
  10. ที่ดินชิดถนนหักมุมจะต้องปาดแนวรั้วด้านละ 4 เมตร

 

3. ดินควรถมสูงแค่ไหน

การถมที่ดินก่อนเริ่มสร้างบ้านเป็นเรื่องที่เจ้าของบ้านต้องศึกษาทำความเข้าใจเอาไว้เช่นกันครับ โดยสาเหตุที่ต้องถมที่ดินก็เพื่อยกระดับความสูงของพื้นที่เพื่อป้องกันน้ำท่วม สิ่งแรกที่ต้องทำก่อนถมดินสร้างบ้าน คือตรวจสอบผืนดินเบื้องต้น เพื่อใช้ในการตัดสินใจว่าจะกำหนดความสูงของผืนดินอีกเท่าไหร่ดี  และสอบถามสภาพพื้นที่จากผู้อยู่อาศัยบริเวณรอบข้างว่ามีการเกิดน้ำท่วมหรือไม่ น้ำท่วมสูงเท่าไหร่ ใช้เวลานานหรือไม่ถึงจะแห้ง น้ำท่วมขังตลอดไหม ชนิดของดินบริเวณนี้เป็นดินอะไร

การถมที่ดินต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่าง เช่น ระดับความสูงของพื้นถนน ความสูงของบ้านหลังอื่น ๆ รอบข้าง ระดับที่น้ำเคยท่วมถึง แต่โดยปกติทั่วไปการถมที่ดินจะถมให้สูงกว่าถนน 50-80 เซนติเมตร หรือบางที่จะถมถึง 1 เมตร เผื่อไว้สำหรับดินทรุดตัว ส่วนระยะเวลาที่ควรถมที่ดินทิ้งไว้ก่อนสร้างบ้าน คือ 6-12 เดือน แต่หากต้องการสร้างบ้านแบบเร็วที่สุดสามารถใช้ดินที่เหมาะกับการสร้างบ้านโดยทันทีและทำการบดอัดดินให้แน่นก่อนเริ่มสร้างบ้าน

 

4. ทิศทางแดด – ลม

ทิศทางแดด – ลม ส่งผลต่อการวางแปลนบ้านว่าห้องไหน ควรอยู่ทิศใด เพื่อให้อาศัยอยู่ในบ้านที่รับแสงแดด สายลม ได้อย่างพอดี ถูกต้อง ลงตัว และมีความสุข ดังนั้น การรู้เเรื่องทิศทางของแดด ทิศทางของลม ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน  แสงแดดจะวิ่งเป็นแนวตะวันออกแล้วอ้อมโค้งไปทางใต้ แล้วตกในทิศตะวันตก ทำให้ทิศตะวันตกเป็นทิศที่รับแสงแดดมากที่สุดของวัน คือตั้งแต่เมื่อเวลาตอนช่วงเที่ยงถึงห้าโมงเย็น ด้านนี้จึงเหมาะทำเป็นหลังบ้าน บริเวณตากผ้า เพราะรับแสงมากที่สุด ส่วนทิศตะวันออกเป็นทิศที่ได้รับแสงแดดอ่อน ๆ ในตอนเช้า แสงจะแรงมาก ๆ แค่ช่วงสิบโมงเช้าจนถึงเที่ยง และทิศเหนือเป็นทิศที่รับแสงแดดน้อยที่สุด จึงเหมาะที่จะวางห้องนอนหรือห้องพักผ่อนไว้ 2 ทิศนี้

ส่วนลมนั้น ลมประจำฤดูของประเทศไทยเราจะพัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งพัดลมหนาวมาจากจีนในช่วงหน้าหนาว  และ ลมจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดเอาความชื้นจากทะเลมาในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝน การสร้างบ้านที่ดีจึงควรวางด้านยาวหันเข้าหาทิศทางลมเพื่อให้ลมธรรมชาติพัดเข้ามาในบ้านอย่างสะดวก ทำให้ระบายความร้อน บ้านเย็นสบายยิ่งขึ้น

 

5. แบบบ้านต้องรู้

แบบบ้านในฝันของคุณ เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจอยู่เหมือนกัน สำหรับแบบบ้านสไตล์ต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกอยู่หลายแบบหลายสไตล์ สามารถเลือกได้ตามความชอบของคุณเจ้าของบ้าน แต่ทีนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าแบบบ้านที่บางคนเลือกดูในอินเทอร์เน็ต แล้วอยากทำตามแบบนั้นเลย ถือว่าไม่สามารถทำได้ ต้องทำการขออนุญาตเจ้าของแบบ และให้นักออกแบบ วิศวกร สถาปนิกทำแบบขึ้นมาใหม่ เพื่อนำไปทำเรื่องกับหน่วยงานราชการก่อนจึงจะสามารถเริ่มสร้างบ้านได้ แต่ถ้าเป็นแบบบ้านจากหน่วยงานราชการที่ทำแบบมาออกมาให้ใช้ฟรี มีรายละเอียดครบแบบนั้นจึงสามารถนำไปใช้ได้ แต่หลายคนก็คงอยากได้แบบบ้านใหม่ ไม่ซ้ำใคร อันนี้ก็สามารถจ้างนักออกแบบให้ออกแบบแบบบ้านให้เราขึ้นใหม่โดยเฉพาะ แล้วทำเรื่องกับหน่วยงานราชการก่อนเริ่มสร้างบ้านเช่นกันครับ

 

6. จำนวนสมาชิกในครอบครัว

จำนวนสมาชิกในครอบครัวเป็นเรื่องที่ต้องรู้ก่อนเริ่มสร้างบ้าน เพราะมีผลต่อการปลูกสร้างบ้าน โดยต้องนำจำนวนสมาชิกในบ้านมาใช้อ้างอิงกับการทำห้องต่าง ๆ ภายในบ้าน บ้าน 1 หลังที่กำลังสร้าง จะมีห้องนอนกี่ห้อง ห้องน้ำกี่ห้อง มีห้องรับแขกดีไหม ห้องนันทการอื่น ๆ จะสร้างดีไหม ส่วนนี้มีความสำคัญมากนะครับ นอกจากรู้จำนวนสมาชิกที่จะอยู่อาศัยภายในบ้านหลังนี้แล้ว การถามความต้องการของแต่ละคน ว่าอยากมีห้องอะไร มีบริเวณไหนที่อยากทำเอาไว้ใช้สอยร่วมกันก็เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะทุกคนจะได้อาศัยอยู่ในบ้านร่วมกันอย่างมีความสุข

 

7. งบประมาณสำหรับการสร้างบ้าน

การสร้างบ้าน 1 หลัง ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องใช้เงินจำนวนมากทีเดียว ดังนั้นการกำหนดงบประมาณที่จะใช้สร้างบ้านจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องวางแผนให้ละเอียด เพราะกว่าบ้าน 1 หลังจะทำเสร็จออกมาพร้อมอยู่อาศัย มีรายละเอียดยิบย่อยมากมายที่ต้องใช้เงินในแต่ละส่วน ดังนี้

รายการงบสร้างบ้าน                                                   

  1. ค่าเขียนแบบ / ค่าประเมินที่ดิน        
  2. ค่าประกันในการกู้                                
  3. ค่าเทคานวางรากฐานบ้าน
  4. ค่ากระเบื้องและค่ามุงหลังคา 
  5. ค่าก่อฉาบ 
  6. ค่าทาสี
  7. ค่าปูกระเบื้องทั้งหลัง +ค่ากระเบื้อง
  8. ค่าติดกระจก ประตู และเหล็กดัด 
  9. ค่าอุปกรณ์และค่าแรงในการติดตั้งห้องน้ำ 
  10. ค่าอุปกรณ์และค่าแรงในการติดตั้งห้องครัว
  11. ค่าโรงจอดรถที่ติดกับตัวบ้าน 
  12. ค่าอุปกรณ์และค่าติดตั้งระบบน้ำและไฟ
  13. ค่าของตกแต่งอื่น ๆ ที่จำเป็น 
  14. (กรณีที่จ้างสถาปนิกออกแบบบ้านให้) มีค่าออกแบบ

 

 

8. เอกสารการขออนุญาตปลูกสร้างบ้าน

เอกสารที่ต้องยื่นมีอะไรบ้าง

– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ขออนุญาตและเจ้าของที่ดิน อย่างละ 1 ชุด

– สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ขออนุญาตและเจ้าของที่ดิน อย่างละ 1 ชุด

– แบบก่อสร้างแผนผังและรายการประกอบแบบ อย่างละ 5 ชุด

– สำเนาโฉนดที่ดินที่จะทำการก่อสร้าง จำนวน 1 ชุด (หรือเอกสารสิทธิ์อื่น ๆ)

– สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท วัตถุประสงค์ ผู้มีอำนาจลงชื่อแทน นิติบุคคล ที่ขออนุญาตที่

ออกให้ไม่เกิน 6 เดือน

 

หมายเหตุ: จำนวนชุดของเอกสาร จะต้องสอบถามข้อมูลอัปเดตจากสำนักงานเขตท้องถิ่นที่จะยื่นขออนุญาตก่อสร้างบ้าน

 

หลักฐานที่เกี่ยวข้องเฉพาะเรื่อง

– หนังสือยินยอมจากเจ้าของที่ดิน (กรณีผู้ขออนุญาตไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน)

– หนังสือยินยอมให้ปลูกสร้างอาคารชิดผนัง (กรณีใช้ผนังร่วมกัน)

– หนังสือยินยอมให้ปลูกสร้างอาคารชิดเขตที่ดิน (กรณีชิดเขตที่ดินข้างเคียง)

– สำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าของที่ดินแปลงข้างเคียง

– สำเนาบัตรประชาชนของเจ้าของที่ดินแปลงข้างเคียง

– หนังสือรับรองของสถาปนิกและใบควบคุมงานของสถาปนิก

– หนังสือรับรองของวิศวกรและใบควบคุมงานของวิศวกร

– รายการคำนวณ 1 ชุด (กรณีส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารก่อสร้างด้วยวัตถุถาวรและทนไฟเป็นส่วนใหญ่ หรืออาคารสาธารณะ อาคารพิเศษ)

 

ระยะเวลาในการพิจารณาในกรณีทั่วไป

  1. อาคารพักอาศัยไม่เกิน 2 ชั้น ใช้เวลาในการพิจารณาไม่เกิน 20 วัน ไม่รวมระยะเวลาแก้ไขแบบแปลน
  2. อาคารพาณิชย์ อาคารขนาดใหญ่ อาคารประเภทควบคุมการใช้ ใช้เวลาในการพิจารณา 33 วัน (ไม่รวม

ระยะเวลาแก้ไขแบบแปลน)

   ยกเว้นในกรณีที่มีข้อขัดข้อง จะใช้เวลาพิจารณาตามที่ได้กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 

 

9. เลือกบริษัทสร้างบ้าน ผู้รับเหมา หรือช่างในการสร้างบ้าน

เมื่อตัดสินใจจะสร้างบ้านแล้ว สิ่งที่ควรคำนึงต่อมา คือ แล้วใครจะเป็นคนสร้างบ้านให้เรา ที่แน่ ๆ ก็คือต้องตัดสินใจเลือกคนที่จะมาสร้างบ้านให้ เลือกระหว่างบริษัทรับสร้างบ้าน ผู้รับเหมา หรือช่าง  ซึ่งก้มีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกันไป การจ้างบริษัทรับสร้างบ้านมีข้อดีคือดูแลให้ตั้งแต่ต้น จนจบงาน ส่วนถ้าจ้างผู้รับเหมาเรามีสิทธิ์ตัดสินใจเลือกทุกอย่างเองได้ เมื่อรู้สึกไม่ชอบส่วนไหนขณะที่กำลังก่อสร้างสามารถแก้ปัญหาได้เลย ถ้าสร้างบ้านหลังไม่ใหญ่มากจ้างช่างทำให้ก็ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ดีทีเดียวครับ

 

10. ขั้นตอนการสร้างบ้าน

ขั้นตอนที่ 1 – เตรียมพื้นที่ เตรียมความพร้อมก่อนเริ่มปลูกสร้างบ้าน

ขั้นตอนที่ 2 – ขุดเจาะเสาเข็ม

ขั้นตอนที่ 3 – วางโครงสร้างและฐานราก

ขั้นตอนที่ 4 – วางโครงสร้างชั้นบน

ขั้นตอนที่ 5 – มุงหลังคา สร้างบันได และหล่อชิ้นส่วนต่าง ๆ

ขั้นตอนที่ 6 –  ผนัง และเตรียมระบบไฟฟ้า

ขั้นตอนที่ 7 – ฉาบผนังและติดตั้งเพดาน

ขั้นตอนที่ 8 – ติดตั้งประตู หน้าต่าง ตกแต่งพื้น ผนัง ทาสี

ขั้นตอนที่ 9 – เช็กความเรียบร้อย ทำความสะอาด เตรียมเข้าอยู่

ขั้นตอนที่ 10 – ตกแต่งภายนอกและภายใน พร้อมเข้าไปอยู่อาศัย

 

          กว่าจะสร้างบ้านหนึ่งหลังได้ ต้องใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อเก็บเงิน หรือบางคนก็ยอมกู้หนี้ยืมสินเพื่อจะได้เงินก่อนโตมาสร้างบ้าน ในเมื่อเรายอมลำบากมาทั้งชีวิตเพื่อจะได้มีบ้านเป็นของตัวเองแล้ว การทำความเข้าใจเรื่องสำคัญ ๆ ก่อนเริ่มสร้างบ้านก็ไม่ใช่เรื่องยากเท่าไหร่นัก หากอยากจะอยู่ในบ้านหลังที่เราสร้างไปอีกหลายสิบปี ก็ต้องพิถีพิถันกันหน่อย วันนี้ VG ได้รวบรวม 10 เรื่องควรรู้ ก่อนเริ่มสร้างบ้านเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับคนที่กำลังคิดจะสร้างบ้าน สำหรับเจ้าของบ้านที่กำลังสร้างบ้านแล้วกำลังมองหาดี ๆ ติดต่อ VG มาได้เลยนะครับ

 

ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก

20 ข้อควรรู้ก่อนการสร้างบ้าน ตอนที่1 (forfur.com)


บทความที่เกี่ยวข้องกับรางน้ำฝน

เลือกรางน้ำฝนแบบไหนดีที่สุด!

ประเทศไทย มีอากาศแบบร้อนชื้น มีฝนตกเฉลี่ยปีหนึ่งประมาณ 4-5 เดือน หรือทางใต้นี่ตกตลอดเกือบทั้งปี รางน้ำฝนจึงมีความจำเป็นและสำคัญอย่างมาก ที่จะต้องเลือกให้เหมาะสมกับสภาพอากาศของเมืองไทย รางน้ำฝน จริงๆ แล้ว! สำคัญสุดเลย คือ ช่วยไม่ให้บ้านทรุด เพราะหากบ้านทรุดขึ้นมา จะเป็นปัญหาที่แก้ไม่รู้จบเลยค่ะ และรางน้ำฝนช่วย ป้องกันผนังเป็นเชื้อรา ที่เกิดจากการกระเซ็นของน้ำฝน ลดปัญหาน้ำซึมเข้าสู่หลังคา และตามซอกประตูหรือหน้าต่างอีกด้วย หากเราติดตั้งรางน้ำฝนให้กับบ้าน ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงบ้านไปได้เยอะมากเลยค่ะ วันนี้เราจะแชร์ความรู้ ที่ช่วยให้คุณสามารถตัดสินใจเลือกวัสดุให้เหมาะสมกับบ้านของคุณ ทั้งเรื่องงบประมาณ ความแข็งแรง คงทน รวมไปถึงความสวยงามที่ลงตัวกับบ้าน ถ้าพร้อมแล้วไปลุยกันเล้ยยย...
บทความที่เกี่ยวข้องกับรางน้ำฝน

7 ต้นไม้มงคล ปลูกในบ้านเสริมดวงเรียกทรัพย์

หากจะหาต้นไม้มงคล ปลูกไว้ในบ้าน เพื่อส่งเสริมความเป็นสิริมงคล เสริมดวงของผู้ปลูกและคนในบ้าน ช่วยให้ชีวิตการงานมีแต่ความราบรื่นก้าวหน้า ไม่ติดขัดหรือมีปัญหาใดเข้ามาในชีวิต และอาศัยอยู่ในบ้านด้วยความร่มเย็นเป็นสุข คุณเจ้าของบ้านสามารถเลือกปลูก 7 ต้นไม้มงคล ปลูกในบ้านเสริมดวงเรียกทรัพย์ ที่ทาง VG นำมาฝากในวันนี้ได้เลยครับ การปลูกต้นไม้มงคลเหล่านี้นอกจากจะช่วยส่งเสริมความมงคล ยังสามารถเพิ่มความสวยงามให้กับบ้าน บางชนิดสามารถให้ร่มเงาได้ด้วยนะครับ
บทความที่เกี่ยวข้องกับรางน้ำฝน

วิธีทำความสะอาดรางน้ำฝน อุปกรณ์ปกป้องบ้าน

รางน้ำฝนเป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งคู่บ้านเอาไว้ มีหน้าที่ในการปกป้องบ้าน ป้องกันปัญหาต่าง ๆ ตั้งแต่การป้องกันไม่ให้บ้านทรุด ป้องกันผนังบ้านสกปรก ผนังเป็นเชื้อรา ป้องกันปัญหากับเพื่อนบ้าน ป้องกันสวนหรือต้นไม้  และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงบ้าน ฯลฯ คนส่วนใหญ่มักจะทำความสะอาดรางน้ำฝนก่อนหน้าฝนจะเข้ามาเยือน  เพราะเมื่อไหร่ที่หน้าฝนมา นั่นหมายความว่าอุปกรณ์อย่างรางน้ำฝนก็จะได้ทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มที่ วันนี้ VG มาบอกเล่าวิธีทำความสะอาดรางน้ำฝน อุปกรณ์ปกป้องบ้าน  เพื่อเป็นแนวทางให้กับคุณเจ้าของบ้านนำเอาไปใช้กันได้ครับ
บทความที่เกี่ยวข้องกับรางน้ำฝน

วิธีเบื้องต้นในการดูแลรักษารางน้ำฝนให้ใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อรางน้ำฝนถือเป็นอีกจุดสำคัญในบ้านทุกหลัง การดูแลรักษาให้มีประสิทธิภาพและใช้งานได้ยาวนานจึงห้ามมองข้ามเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นรางน้ำฝนไวนิล หรือชนิดใดก็ตาม หลักการเบื้องต้นสำหรับการทำความสะอาดและดูแลถือว่าใกล้เคียงกัน ซึ่งไม่ใช่แค่การได้ประโยชน์จากใช้งานในยามหน้าฝนเท่านั้น แต่ยังช่วยยืดอายุการใช้งาน ไม่ต้องเสียเงินซื้อติดตั้งใหม่บ่อย ๆ อีกด้วย
Inbox
Call
Line