การต่อเติมหลังคาโรงรถเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะรถสุดรักสุดหวงของเราจะได้รับการปกป้องจากแสงแดด สายฝน มลภาวะต่าง ๆ โดยจุดประสงค์หลักของการต่อเติมหลังคาก็เพื่อช่วยบำรุงรักษาอายุการใช้งานรถ ทั้งนี้ในการก่อสร้างควรคำนึงถึงวัสดุของหลังคาที่นำมาต่อเติม นอกจากนี้หลายคนยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี หากต้องการต่อเติมหลังคาโรงรถ ต้องเริ่มต้นจากจุดไหน วันนี้ VG จะมาแนะนำวิธีต่อเติมหลังคาโรงรถตั้งแต่ต้นจนจบ
- ทำความเข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- เตรียมพื้นที่ให้พร้อม คำนวณพื้นที่โรงจอดรถ
- โครงสร้างการต่อเติมหลังคา 3 รูปแบบ
- เลือกวัสดุหลังคาที่จะใช้ในการต่อเติมหลังคาโรงรถ
- ติดต่อผู้รับเหมาหรือช่างเพื่อดำเนินการต่อเติมหลังคาโรงรถ
1. ทำความเข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ตามหลักกฎหมายอ้างกระทรวงฉบับที่ 11 พ.ศ. 2528 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 เรื่องการดัดแปลงอาคาร การต่อเติมถูกรวมอยู่ในกฎหมายนี้ด้วย
- การต่อเติมอาคาร : เกิน 5 ตร.ม. โดยมีเสา + คาน เพิ่มเติม จะถือว่าเป็นการดัดแปลงอาคาร (กฎกระทรวงฉบับที่ 11)
- การระบายน้ำ : ต้องติดรางน้ำและท่อระบายน้ำนำน้ำฝนลงสู่บ่อพักในดินตนเองก่อนระบายลงสู่ที่สาธารณะ (กฎกระทรวงฉบับที่ 55)
- การเว้นระยะ : ผนังหรือเสาต้องห่างจากเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 50 ซม. (กฎกระทรวงฉบับที่ 55)
- วัสดุ : มีการใช้วัสดุที่ต่างชนิด/ต่างขนาดกันจากโครงสร้างอาคารเดิมและกรณีที่ใช้วัสดุชนิดเดิม โครงสร้างใหม่นั้นจะต้องไม่เพิ่มน้ำหนักให้โครงสร้างเดิมมากเกิน 10% (กฎกระทรวง ฉบับที่ 11)
2. เตรียมพื้นที่ให้พร้อม คำนวณพื้นที่โรงจอดรถ
เตรียมพื้นที่ให้พร้อมโดยก่อนต่อเติมพื้นโรงจอดรถจะต้องสำรวจตรวจสอบพื้นโครงสร้างว่าสามารถรองรับน้ำหนักการก่อสร้างต่อเติมและน้ำหนักรถที่จอดในโรงรถหน้าบ้านได้หรือไม่ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้พื้นดินทรุด โดยควรบดอัดพื้นที่ดินให้แน่น สม่ำเสมอทั่วกัน โครงสร้างต้องมีฐานรับแข็งแรงโดยปกติบ้านที่ไม่มีปัญหาดินอ่อนหรือทรุดมาก มักเลือกเทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อกระจายน้ำหนักลงบนดิน โดยไม่ต้องใช้ฐานรากและเสาเข็ม แต่ถ้าต้องการความมั่นใจในการรับน้ำหนักมากขึ้น ให้ทำพื้นแบบ Slab on Ground ที่มีโครงสร้างใต้ดินหรือเสาเข็มแบบปูพรม หรือฐานเข็มกลุ่มรองรับด้านล่างในลักษณะเดียวกับโครงสร้างบ้าน เพราะเสาเข็มจะทำหน้าที่ช่วยถ่ายโอนน้ำหนักลงไปในชั้นดินที่มีความแข็ง เสาเข็มที่มีประสิทธิภาพจึงควรมีความยาวลึกถึงชั้นดินแข็ง เพื่อรองรับน้ำหนักของตัวบ้านและชะลอการทรุดตัวในระยะยาว
กฎหมายระบุไว้ว่าขนาดโรงจอดรถยนต์ ต้องมีขนาดกว้าง x ยาว ไม่น้อยกว่า 2.4 x 5 เมตร
ขนาดสำหรับจอดรถยนต์ 1 คัน แต่หากรถที่บ้านของเราเป็นรถรุ่นใหญ่เช่น รถกระบะ, รถ SUV อาจทำให้การใช้งานไม่สะดวก เพราะอาจคับแคบเกินไป
ขนาดโรงจอดรถที่ดี ต้องรองรับการใช้งานรถยนต์ได้ครอบคลุมทุกรุ่นและใช้งานได้สบาย
ๆ จึงควรมีขนาด ประมาณ 2.5 x 5.5 เมตร สำหรับจอดรถ 1 คัน สำหรับบ้านที่มีรถ 2 คัน พื้นที่ 5.5 x 5.5 เมตร เป็นอย่างน้อย หรืออาจจะเพิ่มพื้นที่มากกว่านี้ได้ตามความเหมาะสมของขนาดที่ดินและงบประมาณ และต้องคำนึงถึงจำนวนคันรถของเราด้วย ส่วนระดับเพดานขั้นต่ำจะอยู่ที่ประมาณ 2.5 เมตร แต่หากให้ใช้งานแบบสบาย ๆ แนะนำให้มีพื้นที่ประมาณ 3 x 6 เมตร สำหรับ 1 คัน และ 5.5 x 6 เมตร สำหรับ 2 คัน หรือมากกว่านี้ตามความเหมาะสมของขนาดที่ดิน
3. โครงสร้างการต่อเติมหลังคา 3 รูปแบบ
การต่อเติมโรงรถมีโครงสร้าง 3 รูปแบบด้วยกัน
แบบที่ 1 : การต่อเติมโดยไม่ต้องตั้งเสา
เป็นการต่อเติมโรงรถหน้าบ้านโดยไม่ตั้งเสา โดยจะใช้วิธีการค้ำยันหรือลวดสลิงยึดติดกับผนังบ้าน แต่มีข้อจำกัดเรื่องระยะยื่นที่สามารถยื่นได้น้อยประมาณ1-2 เมตรหรือหากระยะมากกว่านี้ควรปรึกษาวิศวกรหรือผู้เชี่ยวชาญการต่อเติมลักษณะนี้จะเหมาะกับงานโครงสร้างเหล็กและเลือกวัสดุหลังคาที่มีน้ำหนักเบาเพื่อลดภาระการรับน้ำหนัก
แบบที่ 2 : ฝากโครงสร้างพื้นที่จอดรถไว้กับโครงสร้างบ้าน
วิธีนี้เหมาะกับบ้านที่ถูกออกแบบโครงสร้างมาเผื่อการรับน้ำหนักส่วนต่อเติมในอนาคต โดยการตั้งเสาด้านหน้าเพิ่มเติมและนำคานหรือโครงหลังคาส่วนหนึ่งไปฝากไว้กับโครงสร้างเดิม วิธีนี้เหมาะกับบ้านที่มีที่ดินน้อยและต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายและหลังคาโรงจอดรถที่มีระยะไม่เกิน 3 เมตร แต่มีข้อควรระวังคือการทรุดตัวของโครงสร้างที่อยู่บนเข็มและคานที่ต่างชนิดกันซึ่งพื้นที่จอดรถที่ต่อเติมใหม่ หรือใช้เสาเข็มที่สั้นกว่านั้นมีโอกาสที่จะทรุดตัวได้ง่ายกว่าตัวบ้านที่ใช้เสาเข็มยาวและนอกจากนี้โครงสร้างใหม่ที่ทรุดตัวเร็วกว่า ก็อาจส่งผลกระทบกับโครงสร้างบ้านหลักด้วยการฉุดรั้งถ่วงน้ำหนัก อัตราการทรุดตัวในอนาคตค่อนข้างสูงซึ่งแนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ และสำรวจหน้างานก่อนการก่อสร้าง
แบบที่ 3 : การต่อเติมโรงรถหน้าบ้านโดยมีโครงสร้างแยกจากตัวบ้าน
วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุด หากมีพื้นที่ต่อเติมมากพอและไม่ติดเรื่องงบประมาณต่อเติม เนื่องจากพื้นที่จอดรถใหม่จะไม่กระทบกับโครงสร้างเดิมของตัวบ้านแต่ก็ทำได้ยากมากที่สุดเช่นกัน เพราะต้องใช้ขนาดพื้นที่ค่อนข้างมากตัวบ้านจึงจำเป็นต้องมีที่ดินขนาดใหญ่
4. เลือกวัสดุหลังคาที่จะใช้ในการต่อเติมหลังคาโรงรถ
- หลังคาเมทัลชีท
หลังคาเมทัลชีท คือหลังคาที่ทำมาจากเหล็กที่ผ่านการรีดจนบาง ก่อนจะขึ้นรูปเป็นลอนยาว มีน้ำหนักเบา ติดตั้งง่ายสามารถดัดองศาได้มากตามต้องการ อีกทั้งยังมีหลากหลายสีสันให้เลือก และมีราคาที่ไม่แพงมาก
ข้อเสียคือ สามารถกันแดดกันฝนได้ทั่วไป ความทนทานน้อย ด้วยความที่เป็นเหล็กจึงกักเก็บและแผ่รังสีความร้อนซึ่งค่อนข้างเยอะกว่าวัสดุชนิดอื่น ทำให้บ้านร้อน (ปัจจุบันจึงมักติดตั้งฉนวนกันความร้อนเพิ่มเติมด้วย) อีกทั้งยังมักจะเกิดเสียงดังเวลามีฝนตก และความบางของเหล็กเมื่อผ่านระยะเวลานานๆจะเกิดการชำรุดและผิดรูปได้ง่ายครับ
อายุการใช้งานเฉลี่ยประมาณ 5-10 ปี
- หลังคาไวนิล
ทำมาจาก UPVC มีความยืดหยุ่นสูง รองรับแรงกระแทก ได้เป็นอย่างดีมีน้ำหนักเบา ติดตั้งง่าย สามารถดัดโค้งงอได้ กันรังสีUV กันความร้อนได้ดีมาก ใต้ชายคาไม่ร้อน ไม่สะสมความร้อน ไม่ต้องบุฉนวนเพิ่ม ไม่ลามไฟ ไม่มีปัญหารั่วซึม ระหว่างรอยต่อเป็นคลิปล็อก ดูดซับเสียงได้ดี เวลาฝนตกเสียงไม่ดัง ไม่เกิดสนิมตลอดการใช้งาน
ข้อเสียคือ ราคาที่ค่อนข้างสูง และเกิดริ้วรอยได้ง่าย เมื่อใช้งานไปในระยะเวลานานๆ สีของตัววัสดุจะเปลี่ยนไป ไม่สดใสเหมือนเดิม
อายุการใช้งานเฉลี่ยประมาณ10-20 ปี
- หลังคาโพลีคาร์บอเนต
ทำมาจากเม็ดพลาสติก ลักษณะเป็นลอนฟูก มีคุณสมบัติโปร่งแสง น้ำหนักเบา ติดตั้งง่าย มีความยืดหยุ่นสูง แผ่นดัดโค้งได้ตามต้องการ จึงมักนิยมใช้กับหลังคาหรือกันสาดที่มีรูปทรงโค้ง มีราคาถูก และมีสีสันให้เลือกเยอะ
ข้อเสียคือ เมื่อใช้ไปสักระยะหนึ่งอาจมีการเปราะแตกเป็นรูเล็กๆ ทำให้น้ำขัง และฝุ่นเข้าไปทำให้เป็นคราบดำ ตะไคร่น้ำ ไม่ค่อยทนทาน แผ่นกรอบแตกหักได้ง่าย มีเสียงดังเวลาฝนตก
อายุการใช้งานเฉลี่ยประมาณ 5-10 ปี
- หลังคาไฟเบอร์กลาส
ผลิตมาจากเส้นใยแก้ว มีน้ำหนักเบา ขึ้นรูปดัดโค้งได้ สะดวกต่อการขนย้าย ติดตั้งง่าย ยืดหยุ่นได้ดี ป้องกันรังสี UV ทนต่อความร้อน ไม่ลามไฟ ทนทุกสภาวะสิ่งแวดล้อม คงรูปเดิมได้ดี ไม่มีการหดตัว ไม่เน่าเปื่อยหรือผุกร่อน มีสีสันให้เลือกหลากหลาย
ข้อเสียคือมีราคาค่อนข้างสูง อาจจะเกิดปัญหารั่วซึมตามรอยสกรูในระยะยาว สีมีการซีดและอาจเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามกาลเวลาจนสามารถมองเห็นเส้นไฟเบอร์ได้ค่อนข้างชัดเจน เสียงยังถือว่าดัง แต่ไม่ดังเท่าเมทัลชีท
อายุการใช้งานเฉลี่ยประมาณ 10 ปี
- หลังคาอะคลิลิก
หลังคาอะคลิลิก มีน้ำหนักมาก ทนต่อรังสี UV ได้ดีและกันรังสีอินฟาเรต ลดความร้อนใต้หลังคาได้ประมาณ 5องศประมาณนึงทำให้ไม่ร้อนกันความร้อนได้ดีกว่าแผ่นโปร่งแสงแบบอื่นๆ มีความคงทน มีความทันสมัย
ข้อเสีย แผ่นมีความยืดหยุ่นน้อย ทนแรงกระแทกได้น้อยกว่าวัสดุอื่นๆ การซับเสียงขึ้นอยู่กับความหนา มีอัตราการขยายตัวมากจึงทำให้ต้องเว้นระยะการติดตั้งให้ดี ต้องติดตั้งกับผู้ที่ผ่านมาตรฐานรับรอง
อายุการใช้งานเฉลี่ยประมาณ 10 ปีขึ้นไป
5. ติดต่อผู้รับเหมาหรือช่างเพื่อดำเนินการต่อเติมหลังคาโรงรถ
ขั้นตอนสุดท้ายเมื่อเตรียมความพร้อมและตัดสินใจทุกอย่างครบหมดแล้ว ให้ติดต่อผู้รับเหมาหรือช่างที่มีความถนัดในวัสดุที่เราเลือก โดยแต่ละวัสดุมีช่างติดตั้งเกือบทั่วประเทศ ไม่ว่าคุณจะเลือกวัสดุแบบไหนก็หาผุ้รับเหมาหรือช่างได้ไม่ยาก
การต่อเติมหลังคาโรงรถนอกจากจะช่วยในการปกป้องรถสุดรักสุดหวงของเราแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับความสวยงามของตัวบ้าน ต่อเติมวัสดุหลังคาแบบไหน รูปทรงแบบไหน เป็นเรื่องที่ต้องคิดหนัก ดังนั้นสำหรับใครที่กำลังมีแพลนจะต่อเติมหลังคาโรงรถควรเลือกวัสดุหลังคาให้ดี คำนึงถึงหลาย ๆ ปัจจัย เพราะเมื่อไหร่ที่คุณเลือกผิด ชีวิตอาจเปลี่ยนได้เหมือนกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก:
ต่อเติมโรงรถให้ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง – SCG Building Materials
ไอเดียการต่อเติมหลังคาโรงรถหลายแบบจากนนทบุรี | homify
ต่อเติมพื้นและหลังคาที่จอดรถ ต้องใช้งบเท่าไหร่? | thinkofliving.com
เรื่องต้องรู้ ก่อนทำโรงจอดรถไว้ใช้ที่บ้าน – บ้านไอเดีย เว็บไซต์เพื่อบ้านคุณ (banidea.com)