อิฐ คือ หัวใจหลักของการก่อสร้าง เป็นวัสดุที่ใช้กับงานในส่วนของผนังบ้าน รั้วบ้าน และอื่นๆ
อิฐ ถือเป็นส่วนประกอบหลักพื้นฐานของการสร้างบ้าน รากฐานสำคัญที่ทำให้บ้านเป็นรูปเป็นร่าง อิฐมีหลายประเภทแตกต่างกันตามคุณสมบัติ ซึ่งล้วนมีผลต่อความแข็งแรง คงทน การระบายความร้อน ความชื้นของบ้าน การรับน้ำหนัก คุณสมบัติกันไฟ ตลอดจนเวลาในการก่อสร้าง
อิฐ ถูกใช้งานมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมักจะนำ “อิฐ” ไปตกแต่งหรือต่อเติมอาคารที่พักอาศัย เพราะอิฐเป็นวัสดุที่แข็งแรง ทนทาน สร้างความมั่นใจให้กับผู้พักอาศัย ซึ่งอิฐบางชนิดเหมาะกับการก่อโชว์แนว และอิฐบางชนิดช่วยประหยัดพลังงาน และลดความร้อนในที่พักอาศัยได้อีกด้วย อิฐ จึงนับว่าเป็นวัสดุที่เหมาะอย่างยิ่งกับประเทศที่อยู่ในโซนร้อนชื้น มีอากาศร้อนและฝนตกบ่อย
ดังนั้น การเลือกใช้อิฐให้เหมาะกับความต้องการใช้งาน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เจ้าของบ้านควรรู้เพื่อระบุความต้องการและพูดคุยกับผู้รับเหมาให้เข้าใจตรงกัน ว่าเจ้าของบ้านต้องการอิฐชนิดไหนในการก่อสร้างที่พักอาศัย วันนี้ได้รวบรวมคุณสมบัติ ข้อดีข้อเสีย ที่แตกต่างกันของอิฐมาฝากเพื่อนๆ กัน
อิฐที่นิยมนำมาสร้างบ้านมีกี่แบบ?
1. อิฐมอญ
อิฐมอญ เป็นอิฐประเภทที่ทุกคนคุ้นเคยกันมากที่สุด มีลักษณะเป็นสีแดงส้ม ทำมาจากดินเผา เผาด้วยความร้อน 600-800 องศา มีขนาดเล็ก แบ่งเป็น 2 ชนิด 1. ชนิดทำมือ (ผิวจะขรุขระ) 2. ชนิดปั้นด้วยเครื่อง (ผิวจะเรียบ) เหมาะสำหรับการใช้ก่อผนังที่มีน้ำหนักมากๆ สามารถใช้การก่ออิฐโชว์แนว ก่อผนังสไตล์ลอฟท์และวินเทจ จึงทำให้คุ้นหน้าคุ้นตากันมากกว่าอิฐชนิดอื่น
ข้อดี : ทนแดด ทนฝน ได้ดี เหมาะกับสภาพอากาศบ้านเรา ยึดเกาะดี มีความหนาแน่นสูง แข็งแรง ทนทานใช้ได้ดีสำหรับบริเวณเล็กๆ จะได้ไม่ต้องตัดอิฐมาก ผลิตได้เองในประเทศไทย หาซื้อได้ง่าย ช่างมีความคุ้นเคยในการก่อมากกว่าอิฐชนิดอื่นๆ รับน้ำหนักแขวนได้มาก
ข้อเสีย : มีน้ำหนักมากกว่าอิฐชนิดอื่นมีขนาดเล็ก แตกหักได้ง่าย ทำให้เสียเวลาในการก่อมาก ใช้อิฐจำนวนมากเมื่อเทียบกับอิฐชนิดอื่นๆ ขนาดไม่เป็นมาตรฐาน ทำให้เวลาก่อ ต้องฉาบปูนหนาประมาณ 2-3 cm.โดยรอบเพื่อที่จะให้ผนังมีความเรียบสวย จึงทำให้สิ้นเปลืองปูนฉาบ มีอัตราการดูดซึมน้ำสูง ทำให้เมื่อก่อสร้าง ต้องแช่อิฐในน้ำก่อน เพื่อลดการดูดซึมน้ำจากปูนฉาบ เพื่อป้องกันไม่ให้ปูนฉาบแตก สะสมความร้อนมาก ทำให้บ้านร้อน
การนำไปใช้งาน : บ้านพักอาศัย 1-2 ชั้น ก่อเป็นผนังโชว์แนว ผนังภายนอก ผนังห้องน้ำ อ่างล้างหน้า ท็อปโต๊ะ
2. อิฐบล็อก
อิฐบล็อก ทำจากปูนซีเมนต์และทราย ถูกผลิตในลักษณะอุตสาหกรรมมากกว่าอิฐมอญ มีลักษณะเป็นสีเทา ลักษณะเด่น คือ มีรูตรงกลาง ช่วยให้น้ำหนักเบาขึ้น ระบายความร้อนได้ดีกว่าอิฐมอญ นิยมใช้กับงานก่อสร้างทั่วไป เหมาะสำหรับงานที่เน้นการคุมค่าใช้จ่าย เพราะราคาถูกและใช้เวลาสร้างเร็วกว่าอิฐมอญ
ข้อดี : ราคาถูกมาก มีขนาดก้อนใหญ่ทำให้ก่อสร้างได้รวดเร็ว มีมาตรฐานมากกว่าอิฐมอญ เนื่องจากมีรูพรุน และมีรูโหว่ตรงกลาง จึงถ่ายเทความร้อนได้ดี เหมาะกับงานที่ต้องการประหยัดงบประมาณ
ข้อเสีย : ไม่แข็งแรง รับน้ำหนักกดและน้ำหนักแขวนได้น้อย ไม่เหมาะสมในการเจาะผนังเพราะแตกหักง่าย
ไม่ควรใช้อิฐบล็อกในการก่อผนังห้องน้ำ เพราะมีโอกาสรั่วซึมสูง
การนำไปใช้งาน : นิยมใช้ในงานปูพื้นและทางเข้า และเหมาะกับการใช้ในงานลักษณะอุตสาหกรรม เช่น โกดัง โรงงาน
3. อิฐมวลเบา
อิฐมวลเบา ผลิตจากวัตถุดิบหลายชนิด ได้แก่ ทราย ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนขาว น้ำ ยิปซั่ม และผงอลูมิเนียมที่นำมาใช้เพื่อเพิ่มฟองอากาศนำมาผสมกันในปริมาณที่เหมาะสม และผ่านการอบไอน้ำด้วยแรงดันสูง ลักษณะของอิฐมวลเบา คือ เป็นสีเทา มีขนาดมาตรฐาน (กว้าง 20 cm ยาว 60 cm หนา 7-7.5 cm) ภายในจะมีฟองอากาศเล็กๆ เป็นรูพรุนที่อยู่ในเนื้อวัสดุมากถึง 75% ซึ่งส่งผลทำให้อิฐชนิดนี้มีน้ำหนักเบากว่าอิฐหลายชนิด รวมถึงฟองอากาศเหล่านี้ยังเป็นฉนวนกันความร้อนได้เป็นอย่างดี
แม้ราคาต่อก้อนของอิฐมวลเบาจะแพงกว่าอิฐมอญ แต่เมื่อเทียบสัดส่วนกันแล้ว อิฐมวลเบาจะช่วยในเรื่องของการประหยัดค่าโครงสร้าง และจำนวนของอิฐที่ใช้ เนื่องจากอิฐมวลเบามีขนาดใหญ่กว่าอิฐมอญ แต่น้ำหนักเบา และจำนวนอิฐที่ใช้ต่อตารางเมตรก็น้อยกว่า อีกทั้งความเสียหายระหว่างการขนส่ง หรือขนย้ายก็มีน้อยกว่า จึงเหมาะกับการติดตั้งในงานโครงการ อาคารสูง หรือบ้านพักอาศัย เพราะนอกจากเรื่องน้ำหนักเบาแล้ว ช่วยประหยัดงบประมาณค่าโครงสร้าง อิฐมวลเบายังช่วยประหยัดพลังงาน ทำให้บ้านเย็น ลดการใช้เครื่องปรับอากาศ และช่วยเก็บเสียงได้ค่อนข้างดี
ข้อดี : มีขนาดมาตรฐาน ก้อนใหญ่ จบงานไว ก่อง่าย ประหยัดเวลา น้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายง่าย และประหยัดโครงสร้างอาคาร กันการลามไฟได้นานประมาณ 4 ชม. เหมาะกับอาคารสาธารณะที่มีข้อกำหนดเรื่องวัสดุกันลามไฟ ด้วยพื้นผิวของอิฐมวลเบาที่ค่อนข้างเรียบอยู่แล้ว จึงฉาบแบบบางและงานผนังดูเรียบร้อย เก็บเสียงดี
ข้อเสีย : รับน้ำหนักได้น้อยกว่าอิฐมอญ เมื่อเจาะผนังเพื่อแขวน ต้องใช้พุ๊กพิเศษสำหรับอิฐมวลเบาโดยเฉพาะ ดูดซึมน้ำสูงจึงอาจทำให้ปูนฉาบแตกร้าวได้ เนื่องจากอิฐดูดซึมน้ำจากปูนฉาบเร็วเกินไป ช่างที่ก่อสร้างจะต้องรู้วิธีการก่อ ต้องใช้ฝีมือมากกว่าการก่ออิฐชนิดอื่นๆ
4. อิฐเซรามิก หรือ อิฐพันปี
เป็นอิฐที่นำข้อดีของอิฐมอญและอิฐมวลเบามารวมกัน มีลักษณะเป็นสีแดงส้ม ทำจากดินเผาเช่นเดียวกับอิฐมอญ แต่ผ่านกระบวนการเผาที่อุณหภูมิสูงมากกว่า 1000 องศาเซลเซียส จึงทำให้มีความแข็งแรง ทนทานสูงกว่า และที่สำคัญทำให้มีรูพรุนต่ำ ดูดซึมน้ำได้น้อยมาก ซึ่งช่วยลดปัญหาที่จะตามมาได้มากมาย
ข้อดี : มีความแข็งแรง ทนทานสูง เวลาเจาะแขวน สามารถใช้พุ๊กแบบธรรมดาได้เลย มีขนาดเป็นมาตรฐาน ห้ขนส่งง่าย ก่อได้รวดเร็ว ออกแบบให้มีระบบอินเตอร์ล็อค มีเดือยตัวผู้ตัวเมีย ช่วยในการก่อให้ง่ายดาย และยังทำให้ประหยัดเนื้อปูนในการฉาบให้ได้พื้นผิวเรียบ ค่าดูดซึมน้ำต่ำมาก ช่วยลดปัญหาสีหลุดร่อน และเชื้อราขึ้น
ข้อเสีย : น้ำหนักหลังก่อฉาบค่อนข้างสูง ไม่เหมาะกับการก่อสร้างในอาคารที่มีความสูง ซึ่งอิฐมวลเบาจะเหมาะมากกว่า เนื่องจากความอัดแน่นของอิฐเซรามิก จึงระบายความร้อนได้น้อยกว่าอิฐมวลเบา
การนำไปใช้งาน : ห้องน้ำ ห้องครัว ผนังที่ต้องรับแรงเยอะ งานผนังที่ต้องการก่อโชว์แนว
จากตาราง จะเห็นราคาวัสดุ และค่าแรงงาน แต่ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ แผงอยู่ด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้น การเรื่องใช้อิฐแต่ละชนิดก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าของบ้านเอง และอิฐที่ใช้ในงานก่อสร้าง ก็มีหลากหลายประเภท แตกต่างกันไป การนำไปใช้งานจึงขึ้นอยู่การออกแบบ งบประมาณ และปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญ! อย่าลืมดูถึงซ่อมแซมในอนาคตกันนะ
ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจากจาก
– https://www.wazzadu.com/article/5507
– http://srang-baan.com/%e0%b8%ad%e0%b8%b4%e0%b8%90/
– shorturl.asia/E5MbJ
– shorturl.asia/01BUK
– http://www.wkblock.com/block-talk/113-typeofblock.html